เรื่องราวของพระแก้วมรกต พระพุทธรูปคู่บ้านคู่เมืองของไทยนั้น เต็มไปด้วยปริศนาและความน่าพิศวง อาจารย์เทพมักจะกล่าวถึงเรื่องนี้ด้วยน้ำเสียงที่ชวนสงสัย ปนกับความรู้ทางประวัติศาสตร์ และโบราณคดีที่แน่นปึ้ก ทำให้ผู้ฟังต้องขบคิดตาม ซึ่งพระแก้วมรกตถูกค้นพบที่เชียงราย แล้วทำไมถึงไปอยู่ลำปาง เชียงใหม่ หลวงพระบาง เวียงจันทน์ แล้วสุดท้ายมาลงเอยที่กรุงเทพฯ ได้ มันต้องมีอะไรมากกว่าแค่การอัญเชิญธรรมดาแน่ๆ ตามประวัติศาสตร์ที่บันทึกไว้ พระแก้วมรกตถูกค้นพบในเจดีย์ที่เชียงราย ราว พ.ศ. 1897 หลังจากนั้นก็ถูกอัญเชิญไปยังเมืองต่างๆ ดังที่กล่าวมาข้างต้น แต่สิ่งที่น่าสนใจ คือ อาจารย์เทพมักจะตั้งคำถามชวนคิด เช่น ทำไมต้องเดินทางไกลขนาดนั้น อาจารย์เทพเชื่อว่าการที่พระแก้วมรกตถูกอัญเชิญไปแต่ละเมือง มันสะท้อนถึงอำนาจ และการแย่งชิงความเป็นใหญ่ในภูมิภาคนี้ชัดเจน เมืองไหนมีพระแก้วมรกต เมืองนั้นก็เหมือนมีเครื่องรางที่แสดงถึงความชอบธรรมในการปกครอง แล้วใครเป็นผู้อยู่เบื้องหลังการอัญเชิญ เพราะว่าการอัญเชิญพระพุทธรูปสำคัญระดับนี้ ไม่ใช่เรื่องบังเอิญแน่ๆ ซึ่งต้องมีผู้นำหรือกลุ่มอำนาจที่ต้องการใช้พระแก้วมรกตเป็นสัญลักษณ์ในการสร้างความมั่นคง และบารมีให้กับตนเอง ยกตัวอย่างเช่น ในสมัยพระเจ้าไชยเชษฐา การอัญเชิญพระแก้วมรกตไปเวียงจันทน์ ก็เป็นการแสดงออกถึงการสถาปนาอาณาจักรล้านช้างให้มั่นคง ปิดท้ายด้วยบทบาทของความเชื่อและความศรัทธา อาจารย์เทพเน้นย้ำว่า ในสมัยโบราณ ความเชื่อ ตลอดจนความศรัทธามีบทบาทสำคัญมาก พระแก้วมรกตไม่ใช่แค่พระพุทธรูป แต่เป็นศูนย์รวมจิตใจและความศรัทธาของผู้คน การอัญเชิญจึงเป็นการเคลื่อนย้ายศูนย์กลางทางจิตวิญญาณไปด้วย
นอกจากนี้ อาจารย์เทพยังตั้งข้อสังเกตเกี่ยวกับศิลปะของพระแก้วมรกตนั่นคือ รูปแบบศิลปะของพระแก้วมรกตเป็นแบบล้านนาตอนต้น ซึ่งสอดคล้องกับการค้นพบที่เชียงราย แต่ทำไมถึงมีอิทธิพลของศิลปะแบบอื่นๆ ปะปนอยู่ด้วยซึ่งอาจจะเป็นไปได้ว่า พระแก้วมรกตได้รับการบูรณะ หรือปรับปรุงในแต่ละยุคสมัยที่ประดิษฐานอยู่ตามเมืองต่างๆ ด้วย เช่น การที่พระแก้วมรกตเคยประดิษฐานอยู่ที่เวียงจันทน์เป็นเวลานานถึง 219 ปี ก็อาจส่งผลต่อรูปแบบศิลปะบางส่วนขององค์พระแก้วมรกตได้
เส้นทางอัญเชิญพระแก้วมรกต
จากตำนานเล่าว่า มีการอัญเชิญพระพุทธรูปสำคัญองค์นี้จากจังหวัดเชียงรายมายังเมืองเขลางค์นคร (จังหวัดลำปาง) เมื่อ 32 ปีก่อน นำไปไว้ที่จังหวัดเชียงใหม่ในสมัยพระเจ้าติโลกราช กระทั่งปลายราชวงศ์มังราย พระไชยเชษฐาได้เสด็จมาครองเมืองเชียงใหม่ เมื่อพระเจ้าโพธิสาลราชที่เมืองหลวงพระบางสวรรคต พระองค์จึงเสด็จกลับไปครองหลวงพระบาง พร้อมนำพระแก้วมรกตและพระพุทธรูปสำคัญอื่นๆ ไปยังเมืองหลวงพระบางด้วย ต่อมา เมื่อพระไชยเชษฐาเสด็จลงมาครองเมืองเวียงจันทน์ พระแก้วมรกตก็มาประดิษฐานที่นครเวียงจันทน์ด้วย แล้วมีการอัญเชิญมาอยู่ที่กรุงธนบุรีในสมัยสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ต่อด้วยกรุงเทพมหานครจงวบจนถึงปัจจุบัน
พระแก้วมรกตเคยประดิษฐานอยู่ไหนบ้าง?
จากเส้นทางข้างต้น สถานที่ที่พระแก้วมรกตเคยประดิษฐาน นับแต่อดีตจวบจนถึงปัจจุบัน มีดังนี้
1. วัดพระแก้ว อำเภอเมือง จังหวัดเชียงราย สถานที่ตามตำนานที่เล่ากันว่าเป็นจุดค้นพบพระแก้วมรกต เมื่อราว พ.ศ. 1897 ในสมัยพระเจ้าสามฝั่งแกนแห่งเชียงใหม่
2. วัดพระแก้วดอนเต้าสุชาดาราม (พ.ศ. 1979 – 2011) อำเภอเมือง จังหวัดลำปาง เป็นที่ประดิษฐานพระแก้วมรกต ก่อนพระเจ้าติโลกราชจะทรงอัญเชิญไปที่เชียงใหม่
3. วัดเจดีย์หลวงวรวิหาร (พ.ศ. 2011 – 2096) อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ พระเจ้าติโลกราชทรงอัญเชิญพระแก้วมรกตจากลำปางมาประดิษฐานไว้ที่สถูปเจดีย์หลวง
4. หอพระแก้ว เมืองหลวงพระบาง พระเจ้าไชยเชษฐาอัญเชิญมาไว้เมื่อคราวเสด็จกลับจากเชียงใหม่มาครองเมืองหลวงพระบางช่วงสั้น ๆ ไม่ถึงปี (บางหลักฐานอ้างว่า อัญเชิญมาตั้งแต่สมัยพระเจ้าโพธิสาลราช ก่อนรัชกาลพระเจ้าไชยเชษฐา)
5. หอพระแก้ว เมืองเวียงจันทน์ (พ.ศ. 2096 – 2322) สร้างขึ้นโดยพระกระแสรับสั่งในพระเจ้าไชยเชษฐาธิราช หลังย้ายมาประทับที่นครเวียงจันทน์ เมื่อ พ.ศ. 2103 พระแก้วมรกตประดิษฐานอยู่ที่นี่เป็นเวลาถึง 219 ปี
6. วัดอรุณราชวราราม (พ.ศ. 2322 – 2327) ฝั่งธนบุรี เขตบางกอกใหญ่ กรุงเทพมหานคร สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีทรงอาราธนาพระแก้วมรกตจากเวียงจันทน์มาไว้ ณ พลับพลาวัดแจ้ง (ต่อมาคือวัดอรุณราชวรารามราชวรมหาวิหาร)
7. วัดพระศรีรัตนศาสดาราม (พ.ศ. 2327 – ปัจจุบัน) หรือ “วัดพระแก้ว” เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร โดยรัชกาลที่ 1 โปรดเกล้าฯ ให้อัญเชิญมาประดิษฐานในพระอุโบสถของวัด
คำถามที่อาจารย์เทพขอฝากไว้เปรียบเสมือนกุญแจที่ไขไปสู่ห้องแห่งความสงสัยใคร่รู้ที่ซ่อนอยู่ภายใต้ประวัติศาสตร์อันยาวนานของพระแก้วมรกต ‘สรุปแล้ว พระแก้วมรกตเป็นของใครกันแน่’ ลองทบทวนถึงเชียงรายในวันที่เจดีย์ผุพัง และเผยให้เห็นพระพุทธรูปมรกตที่ซ่อนอยู่ภายใน ผู้คนที่พบเจอในวันนั้น พวกเขาคิดอย่างไร หรือเขามองพระแก้วมรกตในฐานะอะไร? เป็นเพียงวัตถุโบราณ หรือเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่เป็นสัญลักษณ์ของอะไรบางอย่างที่ยิ่งใหญ่กว่านั้น? การค้นพบครั้งนั้นได้เริ่มต้นการเดินทางอันยาวนานของพระแก้วมรกต ซึ่งเป็นการเดินทางที่ผูกพันกับชะตากรรมของเมืองต่างๆ โดยเมื่อพระแก้วมรกตถูกอัญเชิญไปยังลำปาง เชียงใหม่ หลวงพระบาง และเวียงจันทน์ มันไม่ได้เป็นเพียงการเคลื่อนย้ายวัตถุ แต่เป็นการเคลื่อนย้ายความเชื่อ ความศรัทธา และอำนาจ เมืองที่พระแก้วมรกตประดิษฐานอยู่ ได้รับการยกย่องและกลายเป็นศูนย์กลางทางจิตวิญญาณ การมีอยู่ของพระแก้วมรกตได้สร้างความรู้สึกเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันในหมู่ผู้คน และเป็นเครื่องมือในการเสริมสร้างความชอบธรรมในการปกครอง
แล้วประเทศไทยในปัจจุบันนี้ การที่พระแก้วมรกตได้มาประดิษฐานอยู่ในวัดพระศรีรัตนศาสดาราม มีความหมายอย่างไรต่อคนไทยอันเป็นโบราณวัตถุที่ล้ำค่า หรือเป็นสัญลักษณ์ของชาติรวมถึงเป็นศูนย์รวมจิตใจของพุทธศาสนิกชน บางทีคำตอบอาจจะไม่ใช่สิ่งใดสิ่งหนึ่ง แต่เป็นทั้งหมดที่กล่าวมา หรือแท้จริงแล้วความเป็นเจ้าของอาจไม่ใช่ประเด็นสำคัญที่สุด สิ่งที่สำคัญกว่าคือความหมาย และความสำคัญที่พระแก้วมรกตมีต่อผู้คนในแต่ละยุคสมัยต่อมวลมนุษยชาติในฐานะที่เป็นสัญลักษณ์ของความเชื่อและศรัทธา
คำถามเหล่านี้ คงไม่ได้มีคำตอบที่ตายตัว เพราะขึ้นอยู่กับมุมมอง การตีความของแต่ละบุคคลแต่สิ่งที่แน่ชัด คือ ช่วยกระตุ้นให้เราคิดถึงความสัมพันธ์ที่ซับซ้อนระหว่างประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม ความเชื่อ และอำนาจ และทำให้เรามองเห็นพระแก้วมรกตในมิติที่ลึกซึ้ง และกว้างขวางยิ่งขึ้น การเดินทางเพื่อค้นหาคำตอบจึงเป็นการเดินทางเพื่อทำความเข้าใจอดีต ปัจจุบัน ความหมายที่แท้จริงของสิ่งที่เราเรียกว่าพระแก้วมรกต สาธุ..