เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 28 กรกฎาคม 2567 และครบรอบ 50 ปีแห่งการสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตไทย – จีน รัฐบาลจีนให้รัฐบาลไทยอัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุ พระเขี้ยวแก้ว จากวัดหลิงกวง กรุงปักกิ่ง สาธารณรัฐประชาชนจีน มาประดิษฐานในราชอาณาจักรไทยเป็นการชั่วคราว ณ ท้องสนามหลวง เพื่อเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 28 กรกฎาคม พ.ศ. 2567 โดยอัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุ พระเขี้ยวแก้ว จากสาธารณรัฐประชาชนจีนมาสู่ประเทศไทยในวันที่ 4 ธันวาคม 2567 และจะอัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุ (พระเขี้ยวแก้ว) กลับสู่สาธารณรัฐประชาชนจีนในวันที่ 15 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2568
ที่มาของพระเขี้ยวแก้ว วัดหลิงกวง
พระเขี้ยวแก้ว วัดหลิงกวง ในกรุงปักกิ่ง ประเทศจีน เป็นพระบรมสารีริกธาตุที่สำคัญของพระพุทธศาสนา เชื่อว่า เป็นพระทันตธาตุศักดิ์สิทธิ์ (ฟัน) ของพระพุทธเจ้าซึ่งถูกค้นพบในปี พ.ศ. 2498 ภายในเจดีย์โบราณใกล้เมืองซีอาน และถูกนำมาประดิษฐานในอาคารพิเศษที่ วัดหลิงกวง ซึ่งถือเป็นศูนย์กลางแห่งศรัทธาในกรุงปักกิ่ง
วัดหลิงกวงกับการประดิษฐานของพระเขี้ยวแก้ว
วัดหลิงกวง ตั้งอยู่บนเชิงเขาทางทิศตะวันออกของเทือกเขาด้านตะวันตกของกรุงปักกิ่ง มีประวัติศาสตร์ยาวนานกว่า 1,000 ปี โดดเด่นด้วยสถาปัตยกรรมและบรรยากาศที่สงบงดงาม มีชื่อเสียงในฐานะสถานที่ประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุส่วนพระเขี้ยวแก้วของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า และเป็นหนึ่งในสถานที่แสวงบุญสำคัญของพุทธศาสนิกชนทั้งในจีนและจากต่างประเทศ
เมื่อปี พ.ศ. 2526 วัดหลิงกวง ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นวัดพุทธสำคัญในพื้นที่วัฒนธรรมจีนฮั่นโดยคณะรัฐมนตรีจีน ปัจจุบันอยู่ภายใต้การบริหารของคณะสงฆ์ซึ่งพุทธสมาคมจีนมอบหมายแต่งตั้งพระบรมสารีริกธาตุ (พระเขี้ยวแก้ว) ที่วัดหลิงกวง ประดิษฐานอยู่ภายในพระสถูปทองคำประดับอัญมณี องค์พระเขี้ยวแก้วมีขนาดยาวประมาณ 1 นิ้ว เชื่อกันว่า บุคคลต่างๆ มองเห็นองค์พระเขี้ยวแก้ว มีสีต่างกันไป บ้างเห็นเป็นสีขาวล้วน บ้างเห็นเป็นสีทอง บ้างเห็นเป็นสีขาวหม่น ซึ่งเป็นไปตามกรรม ที่แตกต่างกันของแต่ละบุคคล
แม้องค์พระบรมสารีริกธาตุจะมิใช่สภาวธรรมที่เป็นแก่นของพระพุทธศาสนาแต่ก็เป็นเครื่องชี้ทางและสะพานให้พุทธศาสนิกชนเดินหน้าไปสู่เป้าหมายปลายทางของพระพุทธศาสนาได้ เป็นสัญลักษณ์แห่งพระปัญญาตรัสรู้แห่งองค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า
พระเขี้ยวแก้วเป็นศูนย์รวมศรัทธาของพุทธศาสนิกชนทั่วโลกที่เดินทางมาสักการะและแสวงบุญเพื่อแสดงความเคารพต่อพระพุทธเจ้า พระบรมสารีริกธาตุ (พระเขี้ยวแก้ว) เป็นสัญลักษณ์แห่งปัญญาและแรงบันดาลใจบนเส้นทางธรรม ทั้งนี้ สำหรับศาสนิกชนชาวไทยและต่างชาติสามารถเดินทางมาร่วมสักการะพระบรมสารีริกธาตุ (พระเขี้ยวแก้ว) จากวัดหลิงกวง สาธารณรัฐประชาชนจีน เพื่อความเป็นสิริมงคลในชีวิต ได้ระหว่างวันที่ 5 ธันวาคม 2567 ถึงวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2568 เวลา 07.00 – 20.00 น. ณ มณฑลพิธีท้องสนามหลวง กรุงเทพมหานคร